ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น มร.ชม. เดินหน้า ร่วมแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน เน้นการมีส่วนร่วม พื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน

CMRU Faculty : คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี | Date and Time : 15/12/2564

            อาจารย์ ดร.ทัตพร คุณประดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (BRIC CMRU) พร้อมด้วยอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาสาขาวิชาชีววิทยา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต ดำเนินโครงการลดการเกิดไฟป่าและหมอกควันโดยการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามแผนงาน Strategic Fund โปรแกรมที่ 7 โจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการเกษตร กลุ่ม PM2.5 ซึ่งเมื่อวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2564 คณะทำงานได้เก็บข้อมูลในเขตป่าชุมชน เพื่อหาแนวทางการอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบเกื้อกูล เพิ่มพื้นที่ปลอดไฟ สร้างการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเกิดไฟที่จุดกำเนิดโดยชุมชน พื้นที่บ้านนาปลาจาด ต.นาปลาจาด อ.เมือง และบ้านปางคาม ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า โอกาสนี้ ได้เข้าพบ นายสุวิทย์ นิยมมาก รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน และนายปกรณ์ จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อร่วมประชุมปรึกษาหารือพร้อมนำเสนอ กรอบการวิจัยการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

           ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 – 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่บ้านแม่อูคอหลวง ต.แม่อูคอ อ.ขุนยวม และบ้านห้วยไก่ป่า ต.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย ในการลงพื้นที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงสมาชิกในชุมชน และในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม คณะทำงานมีกำหนดลงพื้นที่บ้านแม่ทะลุ ต.สบเมย อ.สบเมย, บ้านไร่ ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง และบ้านเวียงเหนือ ต.เวียงเหนือ อ.ปาย เพื่อดำเนินโครงการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องการตัดวงจรไฟป่าเพื่อการลดหมอกควันโดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ชุมชน และแนวกันไฟเปียก ความหลากหลายทางชีวภาพของป่า การใช้ประโยชน์ เพื่อการกำหนดขอบเขตการจัดการขอบเขตป่าชุมชน ปลอดการเผาในพื้นที่ การแปรสภาพเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในท้องถิ่นให้เป็นปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพ เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี ลดการเผาที่จุดกำเนิด และการลดการเกิดไฟป่า โดยกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา การบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

             สำหรับการลงพื้นที่ทางทีมงานของศูนย์ฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทุกคนได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ทำการตรวจ ATK ภายใน 48 ชั่วโมง เมื่อเข้าพบผู้นำชุมชน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงมีกลุ่มคนจำนวนมาก ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และดูแลสุขอนามัยส่วนตัวเพื่อส่วนรวมอย่างเคร่งครัด

 


Sustainable Development Goals – SDGs :


CMRU Strategic Plan :
สร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

CMRU Service Plan :
การวิจัย